ปัญหาเสียงดังภายในโรงงาน ถือเป็นปัญหาที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม เพราะไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงผู้อยู่อาศัยในชุมชนใกล้เคียงอีกด้วย ซึ่งอาจนำมาซึ่งข้อพิพาทที่ทำให้กิจการของโรงงานสะดุดติดขัดได้ ทั้งนี้ ต้นเหตุของปัญหาเสียงดังในโรงงานโดยมาก มักเกิดจากเสียงของเครื่องจักร ที่เดินทางทะลุผ่านไปสร้างปัญหายังพื้นที่อื่นๆ ดังนั้น แนวทางของการแก้ไขปัญหาเสียงดังในโรงงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดทางหนึ่ง จึงเป็นการ “จัดการควบคุมทางผ่านของเสียง” ให้ดี โดยสามารถปฏิบัติได้หลายวิธี ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1. สร้างห้อง หรือฉากปิดกั้นเครื่องจักร
เพื่อเป็นการลดระดับเสียงดังจากเครื่องจักรให้ทะลุผ่านไปยังพื้นที่อื่นน้อยลง วิธีการแรกที่สามารถทำได้คือการเลือกใช้วัสดุอะคูสติกที่มีคุณสมบัติในการกันเสียง ครอบเครื่องจักร หรือปิดกั้นเครื่องจักรเอาไว้ เพื่อทำให้เสียงดังทะลุผ่านออกไปได้น้อยลง แต่ทั้งนี้ ก็จำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องการถ่ายเทความร้อนของเครื่องจักรด้วย และในกรณีที่ทำเป็นห้อง ก็ควรมีการเลือกใช้วัสดุดูดซับเสียง เข้าช่วยด้วยเช่นกัน เพื่อไม่ให้เกิดเสียงก้องเสียงสะท้อนภายให้ห้องเครื่องจักร เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว แม้เสียงจะดังออกไปยังบริเวณอื่นได้น้อยลง แต่เสียงภายในห้องเครื่องจักรก็จะยังคงดังมากอยู่ ซึ่งหากในห้องเครื่องจักรจำเป็นต้องมีพนักงานปฏิบัติงานอยู่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของพนักงานได้ อีกทั้ง หากระดับเสียงดังภายในห้องเครื่องจักรเกินมาตรฐาน ก็จะผิดกฎหมายอีกด้วย
2. ใช้วัสดุป้องกันเสียงในพื้นที่อื่นๆ
หลังจากใช้วัสดุกันเสียงปิดกั้นที่บริเวณเครื่องจักรแล้ว การที่เราปรับปรุงห้องทำงานในบริเวณใกล้เคียง ให้มีการติดตั้งวัสดุอะคูสติกที่มีคุณสมบัติในการป้องกันเสียง ก็จะช่วยให้สามารถลดระดับเสียงดังลงได้อย่างมประสิทธิภาพ และทำให้ผู้ปฏิบัติงานในบริเวณอื่นๆ ได้รับผลกระทบจากปัญหาเสียงดังของเครื่องจักรน้อยลง ทั้งนี้ ในส่วนของการแก้ไขปัญหาเสียงดังจากเครื่องจักร ไม่ให้กระทบไปยังชุมชนใกล้เคียง ทางผู้ประกอบการก็จำเป็นจะต้องวิเคราะห์ถึงพื้นที่โดยรอบให้ดีว่า จะต้องทำการติดตั้งวัสดุกั้นเสียงไปบริเวณตำแหน่งใดบ้าง จึงจะสามารถลดระดับเสียงดังรบกวนลงได้จนอยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ซึ่งทางที่ดีที่สุดควรใช้บริการปรึกษาและขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านเสียงโดยตรง
3. แยกห้องเครื่องจักรให้ห่างไกลจากพื้นที่อื่น
ถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่งเลยก็ว่าได้ แต่จำเป็นจะต้องวางโครงสร้างและวางแผนเอาไว้แล้วตั้งแต่ตอนสร้างโรงงาน เพราะไม่เช่นนั้น ก็อาจจะทำได้ลำบาก เพื่อพื้นที่ทุกอย่างถูกระบุตำแหน่งเอาไว้แล้ว โดยการเพิ่มระยะห่าง หรือการแยกห้องเครื่องจักรออกจากพื้นที่อื่นๆ นั้นจะมีผลทำให้ระดับเสียงดังลดลงได้ 6 เดซิเบล ในทุกๆ ระยะทางที่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ดังนั้น หากพื้นที่ในโรงงานยังเหลือ การเพิ่มระยะห่างจึงเป็นอีกทางเลือกที่ตอบโจทย์ โดยถ้าขยับย้ายห้องเครื่องจักรไม่ได้ ก็เลือกที่จะขยับห้องทำงานอื่นๆ พื้นที่อื่นๆ ที่ต้องมีผู้ปฏิบัติงานออกไปให้ไกลจากห้องเครื่องจักรก็ได้
4. ปลูกต้นไม้ระหว่างทางผ่านของเสียง
ถือเป็นแนวทางเสริมเพิ่มเติมที่แม้จะไม่ได้มีส่วนช่วยมากนักโดยตรง แต่ก็มีส่วนที่จะทำให้เสียงดังเบาลงได้ โดยเราอาจเลือกปลูกต้นไม้ยืนต้น รอบๆ บริเวณพื้นที่ห้องเครื่องจักร ซึ่งต้นไม้ก็จะช่วยปิดกั้นทางเดินของเสียงต่อจากวัสดุกั้นเสียงที่เราติดตั้งแล้วได้อีกต่อหนึ่ง ทำให้รับดับเสียงดังเบาลงได้อีกเล็กน้อย พร้อมกันนั้นก็ยังช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว ความร่มเย็น และร่มเงาให้กับโรงงานได้ด้วย เป็นจุดหย่อนใจพักเหนื่อยสำหรับพนักงานที่ช่วยทำให้มีแรงกำลังใจในการทำงานท่ามกลางเสียงดังของเครื่องจักรมากยิ่งขึ้น
จากแนวทางทั้งหมดที่กล่าวมาจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า “วัสดุป้องกันเสียง” นั้น ถือเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาเสียงดังจากเครื่องจักรในโรงงานเลยทีเดียว ซึ่งการจะแก้ไขได้มากน้อยแค่ไหน จะนำมาซึ่งผลลัพธ์ของระดับเสียงที่ลดลงจนตรงตามเกณฑ์ข้อกำหนดกฎหมายได้หรือไม่ ก็จำเป็นจะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์พื้นที่หน้างาน ตลอดจนการใช้อุปกรณ์ตรวจวัดระดับเสียงที่แม่นยำ เพื่อให้สามารถวางแผน และเลือกใช้วัสดุป้องกันเสียงได้อย่างเพียงพอ ติดตั้งได้ตรงจุด และแก้ไขปัญหาเสียงได้สำเร็จตามที่ต้องการ และเพราะเหตุผลนี้เองจึงทำให้ การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านเสียงโดยตรง เป็นทางออกที่ดีที่สุด ที่จะช่วยให้การลงทุนแก้ไขปัญหาเสียงดังในโรงงานนั้น ได้ผล และไม่ต้องเสี่ยงกับการเสียงบประมาณที่บานปลาย